วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่ง



คดีแพ่ง คือ อะไร

คดีแพ่ง
คือ คดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เช่น การฟ้องให้ผู้กู้ชำระเงินตามสัญญากู้ หรือการฟ้องให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการฟ้องคดีแพ่งมุ่งให้จำเลยชำระเงิน หรือ ชดใช้ค่าเสียหาย มิได้มุ่งจะให้จำเลยต้องถูกลงโทษ เช่น จำคุก ตามกฎหมายอาญา

คดีแพ่ง นอกจากเป็นเรื่องพิพาทกันดังกล่าวแล้ว อาจเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลเพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิของตน เช่น การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งถึอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท






ทนายความ

ในการดำเนินคดี โจทก์หรือจำเลยซึ่งถือเป็น "ตัวความ" หากไม่ต้องการที่จะดำเนินคดีด้วยตนเองก็อาจแต่งตั้งให้ทนายความกระทำแทนได้ ทนายความที่ได้รับแต่งตั้งมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวความที่แต่งตั้งตน
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นตอนซับซ้อน หากดำเนินการผิดพลาดจะส่งผลเสียแก่คดี โจทก์และจำเลยจึงควรแต่งตั้งทนายความกระทำแทน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและรัดกุมในการดำเนินคดี เนื่องจากทนายความเป็นผู้มีวิชาชีพทางกฎหมายย่อมรู้ขั้นตอนหรือกระบวนพิจารณาต่างๆ ดีกว่าบุคคลทั่วไป


ข้อควรทราบ
1.เมื่อมีการแต่งตั้งให้ทนายความกระทำการแทนแล้ว สิ่งที่ทนายความกระทำในกระบวนพิจารณาของศาลจะผูกพันตัวความคือ โจทก์ จำเลย โดยถือว่าโจทก์จำเลยยินยอมและรับทราบด้วยแล้ว การป้องกันไม่ให้ทนายความไปกระทำการเสียหาย อาจทำได้โดยการจำกัดอำนาจกระทำการของทนายความในใบแต่งทนายความด้วยการเขียนระบุอำนาจกระทำการของทนายความในใบแต่งทนายความด้วยการเขียนระบุอำนาจกระทำการของทนายความไว้ให้ชัดเจนว่าเฉพาะกิจการใดให้มีอำนาจกระทำการแทน
2.การตกลงคิดค่าจ้างว่าความจากทรัพย์สินที่พิพาทกัน เช่น ร้อยละ 5 ของทรัพย์สินที่จะได้รับ เป็นการตกลงให้ทนายความเข้าทีส่วนได้เสียโดยตรงในผลของคดี ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ
3.ตัวความสามารถร้องเรียนทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาทได้ที่คณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ

อย่างไรก็ตาม คดีทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องมีทนายความเสมอไป หากตัวความเห็นว่าพอจะดำเนินการเองได้ เช่น ร่างคำฟ้อง ร่างคำร้อง หรือซักถามพยานก็สามารถทำเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนได้ แต่ข้อควรระวัง คือ นอกจากตัวความและผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคีดแทนแล้ว บุคคลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจะเรียงฟ้อง หรือ ว่าความไม่ได้ หากฝ่าฝืนจะผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528




เอกสารที่ต้องจัดเตรียมเมื่อไปติดต่อศาล เช่น

1. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ เช่น หนังสือสัญญา หนังสือบอกกล่าวทวงถาม
2. หนังสือมอบอำนาจในกรณีที่มอบให้ผู้อื่นกระทำแทน
3. ใบแต่งทนายความ
4. รวยละเอียดในการคำนวณยอดหนี้
5. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์
6. สำเนาทะเบี่ยนบ้านหรือใบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของจำเลย ไม่ควรเกิน 1 เดือน (จากฐานข้อมูลการ
ทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
7. หนังสือรับรองนิติบุคคล (จากสำนักงานหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์) ในกรณีที่เกี่ยว
ข้องกับนิติบุคคล เป็นต้น





เมื่อมีการถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง ควรปฎิบัติดังนี้
1. เมื่อถูกฟ้องเป็นจำเลย ควรปรึกษาทนายความและแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทน
2. เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การ จะต้องยื่นคำให้การภายในกำหนด ซึ่งระยะเวลาในการยื่นคำให้การนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- คดีทั่วไป จำเลยต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
- คดีมโนสาเร่ เมื่อศาลออกหมายเรียกไปยังจำเลยให้มาศาลและให้จำเลยให้การในวันมาศาล
- คดีไม่มีข้อยุ่งยาก ศาลจะกำหนดระยะเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การภายในวันใดวันหนึ่งตามที่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดก็ได้
3. การนับระยะเวลายื่นคำให้การ จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หรือบุคคลอื่นที่อายุเกิน 20 ปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านหรือที่ทำงานเดียวกับจำเลย รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแทนจำเลย
หากเป็นกรณีส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยวิธีอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ศาลปิดหมายเรียกและสำเนาฟ้องไว้ที่บ้านหรือที่ทำงานของจำเลย หรือประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การนับระยะเวลาจะเริ่มนับเมื่อพ้น 15 วัน นับแต่วันปิด หรือวันประกาศโฆษณา
หากจำเลยไม่สามารถยื่นคำให้การภายในกำหนดได้ เช่น มีเอกสารหลักฐานในการต่อสู้คดีจำนวนมาก จำเลยก็อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้โดยต้องมีเหตุผลพิเศษอ้างเหตุที่ขอขยายระยะเวลานั้น และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาก็ได้



จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หมายถึง กรณีที่จำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การโดยชอบแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล และจำเลยมิได้ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ซึ่งตามกฎหมายจะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การทันที
อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยจะขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การแล้ว แต่ก็ยังอาจขาดนัดยื่นคำให้การได้ ถ้าศาลไม่อนุญาตขยายระยะเวลาให้ยื่นคำให้การ เนื่องจากไม่มีเหตุอันสมควร

การขาดนัดยื่นคำให้การจะมีได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาไม่มีการขาดนัดยื่นคำให้การ


กรณีที่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนด โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ชนะคดีเพราะเหตุจำเลยขาดนัดภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลย มิฉะนั้น ศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ได้

ผลของการจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ

1. จำเลยจะนำพยานของตนเข้าสืบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร
2. จำเลยมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้





การขาดนัดพิจารณา คือ
คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาล (ไม่ว่าจะเป็นตัวความหรือผู้มีสิทธิทำการแทนตัวความ เช่น ผู้รับมอบอำนาจและทนายความ) ในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดพิจารณา

ผลของการขาดนัดพิจารณา
1. คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ศาลสั่งจำหน่ายคดี
2. โจทก์ขาดนัดพิจารณา
- ถ้าจำเลยไม่ประสงค์ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจำหน่ายคดี
- ถ้าจำเลยแจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะพิจารณาและ
ชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
3. จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว


การชี้สองสถาน

การชี้สองสถานเป็นกระบวนพิจารณาภายหลังที่ศาลได้รับคำฟ้องและคำให้การแล้ว เหตุที่ต้องมีการชี้สองสถานเพราะบางครั้งคู่ความยกข้อโต้เถียงกันมาก ยืดยาว สับสน ศาลจึงต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ในวันชี้สองสถาน ศาลจะตรวจสอบคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงต่างๆ แล้วสอบถามคู่ความเกี่ยวกับข้ออ้างข้อเถียง และพยานหลักฐาน รวมทั้งจะสอบถามถึงข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างแต่อีกฝ่ายไม่ยอมรับ แล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาท กับกำหนดว่าฝ่ายใดมีหน้าที่นำพยานมาสืบพิสูจน์
คดีที่ไม่ต้องมีการชี้สองสถาน เช่น
1. จำเลยคนใดคนหนึ่งขาดนัดยื่นคำให้การ
2. คดีมโนสาเร่ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก
3. คดีที่ศาลเห็นว่ามีประเด็นข้อพิพาทไม่ยุ่งยาก หรือไม่จำเป็นต้องชี้สองสถาน


ชนิดของพยาน

1.      พยานบุคคล หมายถึง บุคคลที่ไปเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อศาล

2. พยานเอกสาร หมายถึง กระดาษ หรือวัตถุใดๆ ที่ปรากฎตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายซึ่งเป็นการสื่อความหมายนั้นๆ เช่น สัญญากู้ โฉนดที่ดิน

3. พยานวัตถุ หมายถึง วัตถุสิ่งของหรือสัตว์ที่นำมาให้ศาลตรวจ

4. พยานผู้เชี่ยวชาญ หมายถึง พยานที่มาเบิกความให้ความเห็นต่อศาล ในฐานะเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในวิชาการบางอย่าง



พยานบุคคลมี 2 ประเภท ได้แก่
1. พยานนำ คือ พยานบุคคลหากคู่ความนำมาศาลได้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องขอหมายเรียกให้มา
2. พยานหมาย คือ คู่ความไม่สามารถนำพยานมาเองได้ก็จะขอให้ศาลออกหมายเรียกไปยังบุคคลที่อ้างนั้น เพื่อให้มาเบิกความต่อศาล

พยานเอกสาร
ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างเป็นพยานก็จะขอให้ศาลมีหมายเป็นคำสั่งเรียกไปยังผู้ครอบครองเอกสารนั้นให้ส่งเอกสารต่อศาล

พยานผู้เชียวชาญ
ถ้าคู่ความต้องการให้พยานดังกล่าวไปให้การออกความเห็นในประเด็นใดที่ศาล อาจขอให้ศาลแต่งตั้งหรือจะอ้างและนำไปศาลเองก็ได้ แต่ถ้าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้ง ศาลสามารถให้พยานผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นเป็นหนังสือก็ได้ และหากไม่เป็นที่พอใจศาลอาจให้พยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไปเบิกความประกอบหนังสือด้วยก็ได้

พยานวัตถุ
คู่ความฝ่ายที่อ้างจะนำส่งต่อศาลและให้อีกฝ่ายหนึ่งตรวจดูต่อหน้าศาลนั้น ถ้าเป็นวัตถุใหญ่โตยากแก่การนำมาศาล โจทก์จะขอให้ศาลออกไปเดินเผชิญสืบเพื่อตรวจพยานวัตถุนั้นนอกศาลก็ได้

การเดินเผชิญสืบ

เป็นการไปสืบพยานนอกศาล นอกจากจะไปตรวจพยานวัตถุ ดังกล่าวแล้ว อาจใช้ในกรณีที่พยานบุคคลป่วยเจ็บหรือชราภาพ จนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ หรือออกไปตรวจสถานที่ที่พิพาทกันในคดีเพื่อให้ศาลเห็นสภาพที่แท้จริง




การสืบพยานในชั้นศาล คู่ความจะอ้างอิงบุคคล เอกสาร หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นพยาน ต้องระบุไว้ในบัญชีพยานที่ยื่นต่อศาล และส่งสำเนาแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าเพื่อให้ทราบว่ามีหลักฐานอะไรบ้างที่จะใช้สนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตนเอง
การระบุพยานเป็นการป้องกันมิให้คู่ความเอารัดเอาเปรียบในทางคดี

ขั้นตอนการสืบพยาน

1. คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามพยานก่อน เรียกว่า ซักถาม
2. เมื่อจบซักถามแล้ว คู่ความฝ่ายตรงข้ามมีสิทธิถามพยานเพื่อหักล้างคำเบิกความที่ตอบซักถามได้ เรียกว่า ถามค้าน
3. เมื่อจบคำถามค้านแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานมีสิทธิถามพยานอีกครั้ง เรียกว่า ถามติง ซึ่งจะถามได้เฉพาะคำถามที่เกียวกับคำเบิกความของพยานตอบคำถามค้านเท่านั้น
4. หลักจากนั้น หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะซักถามพยานอีกต้องขออนุญาตจากศาลเสียก่อน หากศาลอนุญาต คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิถามค้านพยานได้อีกในข้อที่เกี่ยวข้องกับคำถามนั้น
ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยาน หรือถามติงพยาน ห้ามใช้ คำถามนำ ส่วนกรณีที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามถามค้านคู่ความฝ่ายนั้นมีสิทธิใช้คำถามนำได้

คำถามนำ คือ คำถามที่มีคำตอบอยู่ในตัวโดยพยานเพียงตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ เท่านั้น

กฎหมายห้ามพยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง แลศาลมีอำนาจสั่งให้พยานอื่นที่จะเบิกความภายหลังออกไปรอนอกห้องพิจารณาได้
เมื่อพยานเบิกความแล้ว ศาลจะอ่านคำเบิกความนั้นให้พยานฟังและพยานลงลายมือชื่อไว้ ก็หมดหน้าที่ของพยาน


การอ้างพยานเอกสาร
1. การอ้างพยานเอกสารเป็นพยานนั้น ศาลจะรับฟังเฉพาะต้นฉบับของเอกสาร
เว้นแต่
1. คู่ความทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้อง
2. หาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้
3. ต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของทางราชการ หากมีสำเนาหรือข้อความที่คัดจากเอกสารโดยที่ทางราชการรับรองถูกต้อง ก็ใช้อ้างอิงเป็นพยานได้
2. ฝ่ายที่อ้างเอกสาร ต้องส่งสำเนาเอกสารให้ศาลและคู่ความฝ่ายอื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน
3. ฝ่ายที่อ้างเอกสาร ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยานในศาลชั้นต้นฉบับละ 5 บาท แต่สูงสุดไม่เกิน 200 บาท


การขอคุ้มครองชั่วคราว

ในระหว่างที่มีการดำเนินคดี ก่อนที่ศาลพิพากษาชี้ขาดว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะหรือแพ้คดี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะได้รับความเสียหาย กฎหมายจึงกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองคู่ความไว้ชั่วคราว โดยกำหนดไว้ 3 กรณี คือ
1. จำเลย เป็นผู้ขอ ได้แก่ ขอให้โจทก์วางเงินหรือหาประกัน

2. โจทก์ เป็นผู้ขอ ได้แก่
- ขอให้ยึด หรือ อายัดทรัพย์สินของจำเลย
- ขอให้ศาลห้ามไม่ให้จำเลยกระทำซ้ำ หรือกระทำต่อไป ซึ่งเป็นการละเมิด การผิดสัญญา หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง
- ขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่า การบุบสลายของทรัพย์สิน
- ขอให้จับกุมและกักขังจำเลยชั่วคราว เป็นต้น

3. โจทก์ หรือจำเลย เป็นผู้ขอ ได้แก่
- ขอให้นำทรัพย์สิน หรือเงินที่พิพาทวางต่อศาล หรือบุคคลภายนอก
- ขอให้บุคคลไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก เป็นต้น




1. คำพิพากษา
คำพิพากษาของศาลกฎหมายกำหนดให้ทำเป็นหนังสือแสดงคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีและเหตุผลคำวินิจฉัยนั้น รวมทั้ง เรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย
ย่อหน้าสุดท้ายของคำพิพากษา จะบอกผลของข้อวินิจฉัย พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน.......................... หรือ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

การอ่านผลของคดีจากคำพิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์ หรือ ศาลฎีกา
มีถ้อยคำที่ควรทราบ คือ
1. ยืน หมายถึง เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ทั้งหมด
2. ยก หมายถึง ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกายกอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความ
3. กลับ หมายถึง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือ ศาลอุทธรณ์ทั้งหมด
4. แก้ หมายถึง เห็นด้วยบางส่วน ไม่เห็นด้วยบางส่วน

เมื่อศาลพิพากษาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฎิบัติตามคำพิพากษา และกำหนดวิธีปฏิบัติไว้ เรียกว่า คำบังคับ


2. การพิพากษาตามยอม
เมื่อฟ้องคดีต่อศาลแล้วคู่ความอาจตกลงกันและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ มี 2 วิธีคือ

1. การทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล ซึ่งเป็นการทำสัญญากันเองไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และโจทก์ต้องมาขอถอนฟ้อง
2. การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามขั้นตอนและกระบวนการของศาล

ในช่วงคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ถ้าคู่ความตกลงกันได้ก็อาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลกันได้ ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงไม่ขัดต่อกฎหมายศาลก็จะพิพากษาตามยอมให้





การอุทธรณ์ ฎีกา

ข้อจำกัดการอุทธรณ์ ฎีกา
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว คู่ความที่ไม่พอใจ อาจอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ หรือ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คู่ความที่ไม่พอใจ อาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ข้อโต้แย้งที่คู่ความหยิบยกขึ้นอาจแยกเป็นข้อกฎหมาย และ ข้อเท็จจริง โดยหลักถ้าเป็นข้อกฎหมายจะไม่มีข้อห้ามในการอุทธรณ์ฎีกา แต่กฎหมายจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาปัญญาข้อเท็จจริง


ระยะเวลาการอุทธรณ์ฎีกา
คู่ความจะต้องยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังแล้วแต่กรณี


การบังคับคดี

หมายถึง วิธีการที่คู่ความผู้ชนะคดีจะดำเนินการเอาแก่ผู้แพ้คดีเพื่อให้ได้ผลตามคำพิพากษา เนื่องจากฝ่ายแพ้คดีไม่ยอมปฎิบัติตามคำพิพากษาโดยได้ทราบคำบังคับและระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้เพื่อการปฎิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีอำนาจที่จะดำเนินการขอให้ศาลบังคับคดีได้
อนึ่ง คู่ความฝ่ายชนะคดีจะต้องร้องขอให้มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด แต่ถ้าผู้ชนะคดีไม่ร้องขอให้ศาลบังคับคดีภายใน 10 ปี การบังคับคดีก็ย่อมสิ้นสุดลง

วิธีการบังคับคดี

1. วิธีการออกหมายบังคัดคดี เมื่อได้มีการส่งคำบังคับให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้เพื่อปฎิบัติตามคำพิพากษาได้ล่วงพ้นแล้ว แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังขัดขืนไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิจารณาและพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี (ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อดำเนินการบังคับคดี)
2. การติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม การบังคับคดีของศาลในกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยกรมบังคับคดี ส่วนในต่างจังหวัด หากมีสำนักงานบังคับคดีประจำจังหวัด สำนักงานดังกล่าวจะเป็นผู้ดำเนินการ
                                                                           ที่มา   http://www.legaltolaw.com/



1 ความคิดเห็น:

กองมรดก

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมรดก :: โดย www.meechaithailand.com ...