วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สรุปสาระสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่ง

สรุปสาระสำคัญที่ควรรู้
เกี่ยวกับ
การดำเนินคดีแพ่ง
                                                                      รวบรวมโดย....สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ สภาทนายความ
              คดีแพ่ง คือ คดี หรือข้อพิพาทที่มีข้อขัดแย้ง หรือข้อโต้แย้ง หรือกล่าวหากันเกี่ยวกับสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง โดยเป็นการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ ก่อความเสียหาย หรือละเมิดต่อสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายของบุคคลอื่น และไม่สามารถตกลงกันได้ เป็นคดีที่มีข้อขัดแย้งซึ่งผู้ได้รับความเสียหายฟ้องบุคคลอื่นที่เป็นเหตุแห่งข้อขัดแย้งเป็นจำเลย ซึ่งศาลจะนัดชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาท สืบพยาน และมีคำพิพากษา เรียกว่า “คดีมีข้อพิพาท” อย่างหนึ่ง ( เช่น ละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต ร่างกาย สิทธิในครอบครัว สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น )
            กับ คดีที่บุคคลจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ร้องขอต่อศาลเพื่อให้รับรองคุ้มครองสิทธิของตน โดยเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้การกระทำบางอย่าง หรือการใช้สิทธิบางอย่างจำต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับการรับรองจากศาลก่อนเป็นคดีที่ผู้ร้องไม่ต้องฟ้องใครเป็นจำเลย แต่จำเป็นต้องเสนอเรื่องราวของตนต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หากมมีคำสั่งศาลแล้วไม่อาจจะกระทำได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เสนอเรื่องราวหรือยื่นฟ้องโดยทำเป็นคำร้อง ผู้นั้นเพียงแต่ยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุผลแห่งความจำเป็น และความต้องการ โดยศาลจะนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่ง เรียกว่า “คดีไม่มีข้อพิพาท” หรือ “คดีฝ่ายเดียว” อีกอย่างหนึ่ง (เช่น การขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ การขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น) และหากการเสนอคำร้องนั้น ไปกระทบสิทธิหรือโต้แย้งสิทธิของบุคคลอื่น บุคคลที่ถูกกระทบ หรือ ถูกโต้แย้งสิทธินั้นอาจโต้แย้ง คัดค้านคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดี มีผลทำให้คดีไม่มีข้อพิพาทนี้ กลายเป็นคดีที่มีข้อพิพาททันที
       สรุปสิทธิในการฟ้องคดีแพ่ง  บุคคลผู้ประสงค์จะนำคดีแพ่งฟ้องร้องต่อศาล จะต้องมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 2 อย่าง คือ
1.        มีข้อขัดแย้ง ข้อพิพาท หรือกล่าวหากัน หรือละเมิด เกี่ยวกับสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เรียกว่า “คดีมีข้อพิพาท”  หรือ
2.       มีเหตุและจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลตามที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิไว้เรียกว่า “คดีไม่มีข้อพิพาท”
         การฟ้องคดีแพ่ง   -ฟ้องด้วยวาจา หรือ
                                                    -ทำเป็นหนังสือ
                                                  -โดยมีจุดมุ่งหมายให้จำเลย กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้ถูกฟ้องคดี

การพิจารณาว่าจะฟ้องคดีที่ศาลใด
1.        พิจารณาจากประเภทคดี และทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเพื่อพิจารณาถึงอำนาจศาล คือ อยู่ในอำนาจผู้พิพากษาคนเดียว (ศาลแขวง) หรือผู้พิพากษาหลายคน (ศาลจังหวัด)
2.       พิจารณาจากเขตอำนาจของศาลนั้นๆ คือ พิจารณาว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลใด หรือมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ก็ฟ้องคดีต่อเขตศาลที่มีเขตอำนาจ เช่น ฟ้องเรียกเงินกู้หรือดอกเบี้ย ผู้กู้(จำเลย) ไปทำสัญญากู้เงินกันในท้องที่เขตอำนาจของศาลจังหวัดปทุมธานี โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรี (ภูมิลำเนาของจำเลย) หรือ๖อศาลจังหวัดปทุมธานี(มูลคดีเกิด) ก็ได้ตามแต่จะเลือก
        +++ส่วนจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด หรือศาลแขวง ต้องพิจารณาจากจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีนั้นๆ

ศาลจังหวัด  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 และมาตรา 26 ให้ความหมายคำว่า “ศาลจังหวัด” ไว้ว่า หมายความถึง ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง และคดีอาญาทั้งปวง ที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น และต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน
              มีอำนาจหน้าที่ทั่วไปที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ทุกประเภท ซึ่งจะมีที่ตั้งประจำในแต่ละจังหวัด หรือในบางอำเภอ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลภาษีอากร ฯลฯ แต่ในส่วนของคดีแพ่ง คดีที่จะฟ้องต่อศาลจังหวัดได้ จะต้องมีเงื่อนไข ดังนี้
1.        คดีที่มีทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกัน เกินกว่า 300,000 บาท
2.       คดีที่ฟ้องขอให้ระงับความเดือดร้อน ความรำคาญ หรือความเสียหาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำนวนเงิน เช่น การฟ้องขับไล่ การฟ้องขอเป็นทางภาระจำยอม ฯลฯ
3.       คดีไม่มีข้อพิพาท เช่น คดีขอเป็นผู้จัดการมรดก คดีขอศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ฯลฯ
บางครั้งในจังหวัดเดียวกัน อาจมีศาลจังหวัดหลายศาล การจะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดใดให้พิจารณาว่าศาลนั้นๆ มีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอใด หรือตำบลใด และจังหวัดที่มีศาลจังหวัดมากกว่า  1 ศาล เช่น
-จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่เทียบเท่าศาลจังหวัด มีศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง รวม 6 ศาล คือ
           1. ศาลแพ่ง มีอำนาจครอบคลุม  เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตบางเขน (เฉพาะแขวงอนุสาวรีย์) เขตสายไหม (เฉพาะแขวงคลองถนน) เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงลาดพร้าว) เขตบึงกุ่ม (เฉพาะแขวงบึงกุ่ม) เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตดินแดง
          2. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีอำนาจครอบคลุม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (เฉพาะแขวงป้อมปราบฯ,แขวงเทพศิรินทร์,แขวงบ้านบาตร,แขวงคลองมหานาค,แขวงวัดโสมนัส)  เขตสัมพันธวงศ์ ,แขวงตลาดน้อย,แขวงจักรวรรดิ)
           3. ศาลแพ่งธนบุรี มีอำนาจครอบคลุม เขตคลองสาน เขตธนบุรี เขตจอมทอง เขตบางบอน เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ
           4. ศาลจังหวัดมีนบุรี มีอำนาจครอบคลุม เขตมีนบุรี (เฉพาะแขวงมีนบุรี,แขวงแสนแสบ) เขตหนองจอก (เฉพาะแขวงหนองจอก,แขวงกระทุ่มราย,แขวงโคกแฝด,แขวงลำผักชี,แขวงคลองสิบ,แขวงคลองสิบสอง,แขวงลำต้อยติ่ง,แขวงคู้ฝั่งเหนือ)  เขตลาดกระบัง (เฉพาะแขวงลาดกระบัง,แขวงทับยาว,แขวงขุมทอง,แขวงลำปาทิว,แขวงคลองสามประเวศ,แขวงสองต้นนุ่น)  เขตคลองสามวา (เฉพาะแขวงบางชัน,แขวงทรายกองดิน,แขวงทรายกองดินใต้,แขวงสามวาตะวันออก,แขวงสามวาตะวันตก)  เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจระเข้บัว)  เขตคันนายาว (เฉพาะแขวงขันนายาว) เขตสะพานสูง (เฉพาะแขวงสะพานสูง)  เขตบางเขน( เฉพาะแขวงท่าแร้ง) เขตสายไหม (เฉพาะแขวงออเงิน)
             5. ศาลจังหวัดตลิ่งชัน มีอำนาจครอบคลุม เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตบางแค เขตบางกอกน้อย  เขตบางกอกใหญ่  เขตบางพลัด เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม
          6. ศาลจังหวัดพระโขนง มีอำนาจครอบคลุม เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตบางนา เขตวัฒนา
      -จังหวัดประทุมธานี มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดประทุมธานี และศาลจังหวัดธัญบุรี
     -จังหวัดเชียงราย มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดเชียงราย และศาลจังหวัดเทิง
     -จังหวัดเชียงใหม่ มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และศาลจังหวัดฝาง
     -จังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน และศาลจังหวัดแม่สะเรียง
     -จังหวัดตาก มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดตาก และศาลจังหวัดแม่สอด
     -จังหวัดสุโขทัย มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดสุโขทัย และศาลจังหวัดสวรรคโลก
     -จังหวัดชลบุรี มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดชลบุรี และศาลจังหวัดพัทยา
     -จังหวัดปราจีนบุรี มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดปราจีนบุรี และศาลจังหวัดกบินทร์บุรี
     -จังหวัดกาญจนบุรี มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี และศาลจังหวัดทองผาภูมิ
     -จังหวัดเพชรบูรณ์ มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ และศาลจังหวัดหล่มสัก
      -จังหวัดนครราชสีมา มี 3 ศาล คือ ศาลจังหวัดนครราชสีมา และศาลจังหวัดสีคิ้ว(ปากช่อง)
                                                           และศาลจังหวัดบัวใหญ่
     -จังหวัดอุบลราชธานี มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี และศาลจังหวัดเดชอุดม
    -จังหวัดขอนแก่น มี 2 ศาล คือ  ศาลจังหวัดขอนแก่น และศาลจังหวัดพล
    -จังหวัดหนองคาย มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดหนองคาย และศาลจังหวัดบึงกาฬ
      -ศาลจังหวัดสกลนคร มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดสกลนคร และศาลจังหวัดสว่างแดนดิน
      -ศาลจังหวัดสุรินทร์ มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดสุรินทร์ และศาลจังหวัดรัตนบุรี
      -ศาลจังหวัดศรีสะเกษ มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดศรีสะเกษ และศาลจังหวัดกันทรลักษณ์
      -ศาลจังหวัดชัยภูมิ มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดชัยภูมิ และศาลจังหวัดภูมิเขียว
      -ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และศาลจังหวัดนางรอง
      -ศาลจังหวัดชุมพร มี 2  ศาล คือ ศาลจังหวัดชุมพร และศาลจังหวัดหลังสวน
      -ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 3 ศาล คือ ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลจังหวัดไชยา
                                              และศาลจังหวัดเกาะสมุย
     -ศาลจังหวัดพระนครศรีธรรมราช มี 3 ศาล คือ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดทุ่งสง
                                             และศาลจังหวัดปากพนัง
      -ศาลจังหวัดพังงา มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดพังงา และศาลจังหวัดตะกั่วป่า
      -ศาลจังหวัดยะลา มี 2 ศาล คือ ศาลจังหวัดยะลา และศาลจังหวัดเบตง

ศาลแขวง  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ให้ความหมายคำว่า “ศาลแขวง”  ไว้ว่า หมายความถึง ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
              มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเล็กๆ น้อยๆ และมีอำนาจไต่สวน หรือออกคำสั่งใดๆที่อยู่ในอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวแต่ในส่วนคดีแพ่ง เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ราคาทรัพย์สินพิพาท หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องไม่เกิน 300.000 บาท ราคาทรัพย์ที่พิพาท หรือจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวอาจขยายได้ โดยพระราชกฤษฎีกา (ตาม พระธรรมนูญศาลฯ ม.25 (4) )
            ในจังหวัดบางจังหวัดมีศาลแขวงและอาจมีมากว่า 1 ศาล แต่ในบางจังหวัดอาจไม่มีศาลแขวงเลย
        ถ้าจังหวัดใดไม่มีศาลแขวง คดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง (ผู้พิพากษาคนเดียว) คือ คดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินจำนวนเงิน 300,000 บาท ก็ให้ยื่นฟ้องได้ที่ศาลจังหวัดตามเขตอำนาจศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา หรือที่มูลคดีเกิด แต่ถ้าเป็นการพิพาทกันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จะยื่นฟ้องต่อศาลซึ่งเป็นที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น ศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก เนื่องจากมีกฎหมายให้อำนาจไว้ คือ พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดได้โดยอนุโลม




การฟ้องคดีแพ่ง


    ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 บัญญัติสาระสำคัญเป็นหลักการไว้ว่า


1.        คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ


2.       แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา


3.       ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา (เป็นฐานสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่ถูกโต้แย้งตามกฎหมาย)


4.       คำขอท้ายฟ้องที่ขอให้ศาลบังคับจำเลย (คำขอบังคับ ค่าเสียหาย ม.446 ค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน ไม่มีอะไรวัดได้ว่าเท่าไหร่ เช่น ค่าเสียหายทางจิตใจ – สามีตาย / ภรรยาตาย ใครเสียใจมากว่ากัน)


5.       ค่าธรรมเนียมศาล (มาตรา 150 และตาราง 1 ท้าย ป.วิแพ่ง )


ค่าขึ้นศาล เป็นส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมศาล


ค่าธรรมเนียมศาล เป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมศาล


ค่าฤชาธรรมเนียมศาล ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วย ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พักของพยาน/ผู้เชี่ยวชาญ/ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กฎหมายบังคับให้ชำระ (มาตรา 149)


อัตราการเสียค่าขึ้นศาลในการดำเนินคดีแพ่ง (มาตรา 1 ท้าย ป.วิแพ่ง) คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000,000 บาท เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 บาท  แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนที่เกิน เสียร้อยละ 0.1 บาท


    คดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท


    คดีมีทุนทรัพย์ และไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ด้วยกัน เสียค่าขึ้นศาลตามข้อ 5.1 แต่ไม่น้อยกว่าข้อ 5.2


     คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่ เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ตามมาตรา 190 จัตวา


    คดีผู้บริโภค กรณีผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามปกติ


 


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่ง มีดังนี้


1.        ค่าขึ้นศาล คือ ค่าธรรมเนียมที่ศาลเรียกเก็บ เมื่อบุคคลใดนำคดีมาฟ้อง หรือร้องขอต่อศาล บุคคลนั้นจะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งค่าขึ้นศาลสามารถแยกประเภทได้ดังนี้


      -คดีทีทุนทรัพย์ คือ คดีที่บุคคลฟ้องเรียกขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ตนได้รับชำระหนี้หรือได้รับค่าเสียหายที่เป็นเงิน หรือเป็นทรัพย์สิน ซึ่งสามารถคำนวณราคาเป็นจำนวนเงินได้ (ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินนั้นยังไม่ได้เป็นของตน) จากผู้อื่นให้มาเป็นของตน โดยจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่เรียกร้องนั้น ถือเป็นจำนวนเงินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน เช่น ฟ้องให้ชำระเงิน ตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย , ฟ้องเรียกให้ชำระราคารถยนต์ที่ค้างตามสัญญาจะซื้อจะขาย


       ค่าขึ้นศาลในคดีมีทุนทรัพย์ สำหรับคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2 บาท แต่สูงสุดไม่เกิน             200,000 บาท


       แต่ถ้าทุนทรัพย์เกินกว่า 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป (ตั้งแต่ 50,000,001 บาท ขึ้นไป ) ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 0.1 บาท


      -คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่ เสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ตามมาตรา 190 จัตวา





      -คดีผู้บริโภค กรณีผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจยื่นฟ้องผู้บริโภค ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามปกติเหมือนคดีแพ่งทั่วไป


       -คดีไม่มีทุนทรัพย์ คือ คดีที่ฝ่ายโจทก์ฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งระงับความเดือดร้อน ความรำคาญ หรือความเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นจำนวนเงินได้ เพื่อประโยชน์ของตัวโจทก์เอง โดยไม่มีการเรียกร้องเป็นจำนวนเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด


               หรือเป็นคดีที่บุคคลเรียกร้อง หรือขอในสิ่งที่เป็นของตนอยู่แล้ว หรือขอให้ศาลสั่งเพื่อแสดงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายไว้ ซึ่งหากไม่มีคำสั่งศาลบุคคลนั้นไม่อาจใช้สิทธินั้นได้ แต่ผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น ไม่ทำให้บุคคลนั้นได้มาซึ่งทรัพย์สินใดเพิ่มขึ้น หรือ เป็นกรณีขอในสิ่งที่ไม่อาจคำนวณเป็นจำนวนเงินได้ เช่น การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติบุคคล , การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโดยมิชอบและขอให้ที่ดินนั้นกลับมาเป็นของเจ้าของที่ดินตามเดิม,การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ,การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้อนุบาล ฯลฯ


           ค่าขึ้นศาลในคดีไม่มีทุนทรัพย์ โจทก์หรือผู้ร้องต้องเสียเรื่องละ 200 บาท





        -กรณียื่นฟ้องเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และไม่มีทุนทรัพย์ รวมอยู่ในคดีเดียวกัน โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง (แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (ขั้นสูง) สำหรับทุนทรัพย์ที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ถ้าเกิน ส่วนที่เกินเสียอัตราร้อยละ 0.1  และการคิดค่าขึ้นศาล นั้นต้องไม่น้อยกว่า 200 บาท (ขั้นต่ำ ) คิดอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์) เช่น โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านที่อยู่อาศัย พร้อมเรียกให้ชำระค่าประตู และกุญแจล็อคอัตโนมัติที่จำเลยทำลายอยู่อาศัย รวมทั้งเรียกค่าเสียหายนับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเกินกว่า 300,000 บาท มาด้วย กรณีนี้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท





         -คำร้องขอกันส่วนในชั้นบังคับคดี ถือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท


        -การอุทธรณ์ หรือฎีกาคำสั่งศาล ตาม ป.วิ แพ่ง ม.227  หรือ 228(2) และ (3) เสียค่าขึ้นศาล เรื่องละ 200 บาท


         -คดีที่ฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศ หรือการร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศ ซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท


            ถ้าเกิน ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป (ตั้งแต่ 50,000,001 บาท ขึ้นไป ) เสียค่าขึ้นศาลอัตราร้อยละ 0.1


              -กรณีเป็นคดีที่ร้องขอให้ศาลบังคับตามหรือขอให้เพิกถอน คำชี้ขาดของอนุโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนที่ร้องขอให้ศาลบังคับให้ศาลบังคับให้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท


                ถ้าเกิน ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป (ตั้งแต่ 50,000,001 บาทขึ้นไป) เสียค่าขึ้นศาลอัตราร้อยละ 0.1


                -คดีที่ฟ้องขอให้บังคับจำนอง หรือบังคับเอาทรัพย์สินหลุดจำนอง (โดยฟ้องเกี่ยวกับหนี้จำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์อย่างเดียว ไม่มีหนี้ประธาน แลละจำเลยให้การรับสารภาพ)


ซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท


                 ถ้าเกิน ส่วนที่เกิน 50  ล้านบาท ขึ้นไป (ตั้งแต่ 50,000,001 บาทขึ้นไป )เสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 0.1


                   แต่ถ้าจำเลยต่อสู้คดี หรือเป็นคำฟ้องที่มีหนี้ประธานรวมอยู่ด้วย ให้คิดค่าขึ้นศาลในอัตราปกติเหมือนคดีทั่วไป


                   -คำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 1 แต่ถ้าโจทก์คัดค้าน เจ้าหนี้ต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2  เหมือนคดีปกติทั่วไป เว้นแต่ ถ้าเจ้าหนี้จำนอง เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาล ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล


                     -คำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิ เสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์ที่ผู้ร้องกำหนดเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในอัตราร้อยละ 2 เหมือนคดีปกติทั่วไป


                      -คำร้องขัดทรัพย์ ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด เสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์ที่ขอให้ปล่อยเป็นทุนทรัพย์ของคดีร้องขัดทรัพย์ ในอัตราร้อยละ 2 เหมือนปกติทั่วไป โดยคิดค่าขึ้นศาลแยกต่างหากจากเดิม


     2 . ค่าขึ้นศาลในอนาคต คือ ค่าธรรมเนียมที่ศาลเรียกเก็บในกรณีที่โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดี


                  -เรียกให้จำเลยชำระค่าเช่า ดอกเบี้ย ค่าเสียหาย โดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด หรืออนับแต่วันที่มีสิทธิเรียกร้อง จนถึงวันฟ้อง (ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง) ไว้ ทั้งที่มีสิทธิเรียกร้อง กลับไม่คิดคำนวณเป็นจำนวนเงินออกมา แต่รุบุว่าขอเรียกดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กรณีนี้ศาลจะสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในอนาคตอีก เป็นเงินจำนวน 100 บาท ก็ได้ หรือศาลจะมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องให้โจทก์ไปแก้ไขเกี่ยวกับจำนวนทุนทรัพย์ใหม่ และให้เสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องก็ได้


                  -เรียกค่าขาดไร้อุปการะ เป็นค่าเสียหายในอนาคต ต้องเสียค่าขึ้นศาล 100 บาท


                 -เรียกให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าเลี้ยงชีพ เงินเดือน เงินบำนาญ หรือเงินอื่นๆ ที่ขอให้จ่ายมีกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าเป็นระยะเวลาในอนาคต ต้องเสียค่าขึ้นศาล 100 บาท





       3 . ค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม คือ ค่าธรรมเนียมที่ศาลเรียกเก็บจากโจทก์เพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ได้ชำระไว้เมื่อตอนยื่นฟ้อง เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้จำนวนทุนทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนที่โจทก์ระบุไว้หน้าคำฟ้อง เช่น


                    กรณีที่โจทก์ไม่ได้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด หรือนับแต่วันที่มีสิทธิเรียกร้องจนถึงวันฟ้อง (ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง) เป็นจำนวนเงินมา คงระบุว่าขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง และศาลเห็นว่าสามารถคิดคำนวณเป็นเงินที่แน่นอนได้ ศาลอาจมีคำสั่งให้คืนสำนวนแก่โจทก์ เพื่อแก้ไขจำนวนทุนทรัพย์ให้ถูกต้อง กรณีนี้ โจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มจากที่ได้ชำระค่าขึ้นศาลไว้เมื่อตอนที่ยื่นฟ้องโดยชำระเพิ่มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากการแก้ไขคำฟ้องแล้ว หรือเป็นกรณีที่โจทก์มีการแก้ไขคำฟ้องโดยเหตุอื่น และมีผลทำให้จำนวนทุนทรัพย์ที่ยื่นฟ้องไว้เพิ่มขึ้นจากเดิม โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มจากที่เสียไว้เดิม ตามส่วนต่างของจำนวนทุนทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น โดยเสียในอัตราเดิม


      4 . ค่าธรรมเนียมอื่นๆ


             -ค่าคำร้อง คำขอ


             -ค่าใบแต่งทนายความ


             -ค่าอ้างพยานเอกสาร


                   ปัจจุบัน  ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวข้างต้นเนื่องจากได้มีการแก้ไขกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 24 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2551 ได้แก้ไขในเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ หลายรายการมีผลทำให้ ค่าคำร้อง คำขอ ใบแต่งทนายความ และค่าอ้างพยานเอกสาร ในคดีแพ่งไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนกับคดีอาญา


             -ค่ารับรองเอกสาร โดยผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาล ต้องเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 50 บาท


            -ค่าขอให้ศาลออกหนังสือสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด ต้องเสียค่าธรรมเนียม ฉบับละ 50 บาท


         5. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่คู่ความอื่นจำต้องกระทำ หรือต้องดำเนินการเพื่อให้การดำเนินคดีสามารถดำเนินต่อไปได้ หรือต้องทำเพื่อประโยชน์ และความชัดเจนแห่งคดี เช่น


                -ค่าส่งหมาย,ค่าป่วยการและค่าพาหนะพยาน,ค่าเดินเผชิญสืบ,ค่าส่งประเด็น,ค่าทำแผนที่พิพาท, ค่าตรวจเอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญ,ค่าตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ฯลฯ    ล้วนเป็นค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คู่ความฝ่ายที่จะดำเนินการเป็นผู้ต้องเสีย ในอัตราที่ศาล หรือกฎหมาย หรือระเบียบของแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ เช่น การส่งหมาย หรือค่าป่วยการและค่าพาหนะพยาน ศาลจะเป็นผู้กำหนดให้ตามที่ศาลเห็นสมควรขึ้นอยู่กับระยะทาง, ค่าตรวจพิสูจน์เอกสารหรือลายมือชื่อ จะทำโดยกองพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำประมาณ 5,000 บาท หรือสูงกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความยากง่าย และจำนวนเอกสาร


           ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งดังกล่าวข้างต้น คู่ความฝ่ายที่ต้องดำเนินการจะต้องเป็นผู้เสียตามอัตราที่กล่าวมา เว้นแต่คู่ความนั้นเป็นบุคคลที่ยากจน ไม่มีทรัพย์ที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นต่อศาลขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล โดยยื่นขอได้ทั้งในการเป็นโจทก์ฟ้องคดี หรือยื่นขอในการต่อสู้คดีกรณีเป็นจำเลย ผู้ยื่นสามารถยื่นได้ทั้งในการดำเนินคดีต่อศาลชั้นต้น ชั้นศาลอุทธรณ์ หรือชั้นศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156


          เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้ว เห็นสมควรและเชื่อว่าผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ หรือหากไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมแล้วผู้ร้องจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร อันเป็นการพิจารณาถึงสถานะของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156/1 ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือยกเว้นเฉพาะบางส่วนก็ได้


           เมื่อศาลอนุญาตให้ผู้ใดได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ผู้นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้นๆ เช่นได้รับยกเว้นในศาลชั้นต้น ก็ไม่ต้องวางเงินค่าขึ้นศาล ค่าธรรมเนียมต่างๆ ยกเว้นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าส่งหมาย ค่าป่วยการ-ค่าพาหนะพยาน ค่าตรวจพิสูจน์เอกสาร-ลายมือชื่อ ฯลฯ ผู้นั้นยังคงต้องเสียตามปกติและเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าคดีเสร็จในชั้นต้น ถ้าผู้นั้นประสงค์จะอุทธรณ์ – ฎีกา คัดค้านคำพิพากษา ผู้นั้นก็ต้องยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมในชั้นศาลแต่ละชั้นศาลใหม่เนื่องจากเวลาผ่านไปสถานะของผู้นั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปถ้ามีเหตุหรือปรากฎว่าผู้นั้นมีทรัพย์สินขึ้น ศาลอาจมีคำสั่งไม่อนุญาต หรือยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมเสียก็ได้














                                แบบพิมพ์ศาลที่ใช้ในการทำคำฟ้องคดีแพ่ง คือ
                                          แบบพิมพ์ศาลหมายเลข (4) คำฟ้อง
            เมื่อใช้ด้านหน้าและด้านหลังหมดแล้วไม่พอ ให้ต่อด้วย 40 . จนจบคำฟ้อง
                                                เมื่อจบเนื้อหาของคำฟ้องแล้ว
               ให้ปิดท้ายด้วยแบบพิมพ์ศาลหมายเลข (5) คำขอท้ายคำฟ้องคดีแพ่ง






                                                              “ทนายความ” ต้องไม่มี “อคติ”


                                                   คิดจะเอาชนะฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้  “ลำเอียง”


               

กองมรดก

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมรดก :: โดย www.meechaithailand.com ...